บทที่ 1 กฎหมายในการทำงานในที่อับอากาศ
บทที่ 1 กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ
สำหรับบทแรกนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวกฎหมายนี้ได้พูดถึงเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจะถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานและการฝึกอบรมต่าง ๆ
มาทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของกฎหมายเกี่ยวกับงานอับอากาศกันก่อน โดย ณ ปัจจุบันจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในที่อับอากาศหลัก ๆ ทั้งหมด 3 ตัว โดยจะเริ่มที่ประวัติความเป็นมาของกฎหมายกันก่อน
1) กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยตัวนี้เราจะเรียกว่า กฎหมาย “แม่”
แน่นอนว่ามีแม่ ก็ต้องมี “ลูก” แต่ก่อนที่จะมีลูก ก็ต้องมี “พ่อ” ก่อนถูกต้องไหมครับ อยู่ ๆ มีแต่แม่แล้วมีลูกเลยก็ดูจะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งคุณ “พ่อ” ของเราในที่นี้ก็คือ “กระทรวงมหาดไทย” ซึ่งในครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงเรื่องของงานอับอากาศก็คือ “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่อับอากาศ” เมื่อปี พ.ศ.2533 (ผู้เขียนยังไม่เกิดครับ ><)
รูปที่ 1-1 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในสถานที่อับอากาศ พ.ศ.2533
และการที่ทุก ๆ เรื่องต้องไปผ่านกระทรวงมหาดไทยทำให้การทำงานนั้นช้าและไม่สามารถดูแลลูกจ้างหรือคนทำงานอย่างเราได้เต็มที่ครับ ทำให้คุณ “แม่” ของเรานั้นไม่สามารถจะอยู่บ้านเดียวกับคุณ “พ่อ” ที่กระทรวงมหาดไทยได้จึงได้แยกออกมาอยู่บ้านของตัวเองเป็น “กระทรวงแรงงาน” ในที่สุดและมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในที่อับอากาศตัวแรกที่มาจากกระทรวงแรงงานคือ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ เราจึงได้ใช้กฎหมายตัวนี้แทนประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาและใช้มาเรื่อย ๆ แต่ทุกอย่างก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลามีเกิดย่อมมีดับ มีใหม่มีเก่า ทำให้กฎกระทรวง ฯ อับอากาศ พ.ศ.๒๕๔๗ นั้นอาจจะมีบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับงานในปัจจุบัน จึงได้มีการปรับปรุงและออกกฎหมายตัวใหม่ที่มีชื่อว่า กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒ และในบทความนี้เราจะเรียก กฎหมายตัวนี้ว่า “กฎหมายแม่” นั่นเอง
แต่คุณแม่ของเราเองก็ไม่ได้แยกออกมาอยู่บ้านคนเดียวนะครับมีลูกติดออกมาด้วย 2 คนก็คือ
1) “ลูกสาว – “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ.๒๕๔๙” ที่จะพูดถึงเรื่องของการฝึกอบรมเป็นหลัก เช่น มีหลักสูตรอะไรบ้าง แต่ละหลักสูตรต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมต้องมีอะไรบ้างพูดถึงแม้กระทั้งคุณสมบัติของผู้สอนต้องมีอะไรบ้าง เป็นต้น
2) “ลูกชาย – “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดมาตรฐานอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตสำหรับการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ.๒๕๔๗” ที่จะพูดเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ต้องใช้ในการทำงาน การช่วยเหลือและการช่วยเหลือช่วยชีวิต ตามชื่อของประกาศ เป็นต้น
รูปที่ 1-2 ความสัมพันธ์ของกฎกระทรวง ฯ งานที่อับอากาศ
หลังจากที่เราได้รู้จักกับประวัติความเป็นมาของกฎกระทรวงแรงงานกับแบบคร่าว ๆ เรียบร้อยแล้วเราจะมาสรุปหลักใหญ่ใจความของกฎหมายแต่ละตัวกัน โดยเริ่มจากตัว “กฎหมายแม่” กันก่อนเลยครับ
นิยาม หรือ ความหมายของ “ที่อับอากาศ” คือ “ที่ซึ่งมีทางเข้าออกจำกัด1และไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง2เป็นประจำ และมีสภาพอันตราย3หรือมีบรรยากาศอันตราย4” บางท่านอ่านแล้วอาจะไม่เข้าใจหรือต้องทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย
1) ทางเข้าออกจำกัดนั้น ไม่ได้หมายถึงทางเข้าออกทางเดียวเสมอไป ทางเข้าออกอาจจะมีหลายทางก็ได้ แต่การเข้าหรือออกจากที่อับอากาศนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่น การปีนลงไปก็ต้องปีนขึ้นมา คลานเข้าไปก็ต้องคลานออกมา หรือแม้กระทั้งบางที่นั้นไม่สามารถปีนลงไปต้องใช้การโรยตัวลงไป จะลงด้วยตัวเองหรือให้เพื่อนร่วมงานส่งลงไปก็ตาม เวลาจะออกมาก็ต้องให้เพื่อนร่วมงานดึงขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นการเข้าออกด้วยความ “ลำบาก”
รูปที่ 1-3 สถานที่อับอากาศที่มีทางเข้าออกจำกัด
2) ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง2เป็นประจำ แน่นอนครับว่าสถานที่ ๆ กล่าวไปเมื่อข้างต้นนั้นคงไม่มีใครอยากปีนขึ้นปีนลง คลานเข้าคลานออก เพื่อไปทำงานทุกวันแน่นอน และในหลาย ๆ ครั้งที่เราเข้าไปทำงานในที่อับอากาศนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยความสบาย แสงน้อยก็มีปัญหากับสายตา อากาศร้อนก็อาจจะมีปัญหากับร่างกาย ก้มหรืองอหลังทำงานนาน ๆ นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคที่เกิดจากการทำงานได้ สถานที่ดังกล่าวจึงจัดวันเป็นสถานที่ ๆ ไม่ได้ออกไว้สำหรับเป็นสถนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
รูปที่ 1-4 สถานที่ ๆ ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับเป็นสถานที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง
3) สภาพอันตราย3
(1) มีวัตถุหรือวัสดุที่อาจก่อให้เกิดการจมลงของลูกจ้างหรือถมทับลูกจ้างที่เข้าไปทำงาน
(2) มีสภาพที่อาจทำให้ลูกจ้างตก ถูกกัก หรือติดอยู่ภายใน
(3) มีสภาวะที่มีลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากบรรยากาศอันตราย
(4) สภาพอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
4) บรรยากาศอันตราย4
(1) มีออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 19.5 หรือมากกว่าร้อยละ 23.5 โดยปริมาตร
(2) มีก๊าซ ไอ หรือละอองที่ติดไฟหรือระเบิดได้ เกินร้อยละ 10 ของค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (Lower flammable limit หรือ Lower explosive limit)
(3) มีฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้ ซึ่งมีค่าความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าความเข้มข้นขั้นต่ำสุดของฝุ่นที่ติดไฟหรือระเบิดได้แต่ละชนิด (Minimum explosive concentration)
(4) มีค่าความเข้มข้นของสารเคมีแต่ละชนิดเกินมาตรฐานที่กำหนดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตราฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย
(5) สภาวะอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
การที่เราจะเข้าทำงานในที่อับอากาศได้นั้น ไม่ใช่อยู่ ๆ เราจะสามารถเข้าทำงานได้ทันทีเลย ต้องผ่านหลายขั้นตอนเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าเราจะสามารถเข้าทำงานได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล ต้องผ่านอย่างน้อย 3 ผ่าน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ? ว่าที่ไหนเป็นที่อับอากาศ ตรงนี้ไม่ต้องห่วงครับ กฎหมายได้บอกนายจ้างไว้แล้วว่าต้องจัดทำป้ายแจ้งโดยมีข้อความว่า “ที่อับอากาศ อันตราย ห้ามเข้า” ติดไว้บริเวณทางเข้าออกทุกแห่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นป้ายหน้าตาแบบนี้ เขียนไว้แบบนี้ คิดไว้เสมอว่าเป็นที่อันตรายห้ามเข้าโดยเด็ดขาด ถ้ายังไม่มี 3 ผ่านที่กล่าวไว้ข้างต้น
ผ่านที่หนึ่ง ผ่านหมอกันก่อน เรียกกว่า “ผ่านการตรวจสุขภาพ” ผู้ที่จะเข้าทำงานในที่อับอากาศต้องไม่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจหรือโรคอื่น ๆ ที่แพทย์เห็นว่าเป็นอันตรายกับผู้ที่จะเข้าไปทำงาน โดยเราต้องไปทำการตรวจสมภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอ็กซ์เรย์ทรวงอก เป็นต้น ถ้าตรงนี้แพทย์บอกว่าทำงานได้ก็คือได้ แต่ยังไม่สามารถทำงานได้ทันที ต้องไปด่านต่อไปอีกก็คือ
ผ่านที่สอง คือผ่านการฝึกอบรม โดยเราจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “ความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ” หลักสูตรนี้จะแยกย่อย ๆ ได้ หลักสูตร แต่ที่นิยมกันที่สุดจะเรียกว่า “หลักสูตร 4 ผู้” จะใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 วัน แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปแน่นอน
ผ่านที่สาม ผ่านผู้อนุญาต เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้แน่นอน ต้องมีคนพาเราไปทำงานและการที่เราจะเข้าไปทำงานในพื้นที่ของใครก็ตามเราจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นหรือผู้อนุญาตที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน ถ้าอยู่ ๆ บุ่มบ่ามเข้าไปทำงานเลยแล้วผู้อนุญาตที่ไม่ทราบว่าเรากำลังทำงาน ผู้อนุญาตที่อาจจะเปิดหรือเดินเครื่องจักร เดี๋ยวจะเป็นอันตรายกับคนทำงานอย่างเรา ๆ อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะทำงานต้อง “ขออนุญาต” จากผู้ขออนุญาตที่ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้เจ้าของพื้นที่แจ้งส่วนงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการปิดการทำงานเครื่องจักรเพื่อไม่ให้ใครเปิดได้หรือใช้งานได้
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงานอย่างเราทั้งหมดผ่านทั้งสามอย่างนี้ เราก็เตรียมตัวเข้าทำงานกันต่อได้เลย แต่เดี๋ยวก่อน เราจะรู้ได้อย่างไร ? มันจะคาบเกี่ยวใน ผ่านที่สาม ก่อนที่เจ้าของพื้นที่จะอนุญาตต้องมั่นใจก่อนว่าสามารถให้เราเข้าทำงานได้อย่างปลอดภัยต้องมีการตรวจวันอากาศเสียก่อน โดยจะต้องใช้เครื่องตรวจวัดอากาศ หรือ Gas detector โดยถ้าเครื่องนี้บอกว่าด้านในปลอดภัย ผู้อนุญาตก็จะให้เราทำงานได้ เราเองก็มั่นใจว่าเข้าทำงานได้อย่างปลอดภัยแน่นอน
แต่ถ้าด้านในยังไม่ปลอดภัย ยังมีอันตรายอยู่แต่นายจ้างยังจำเป็นต้องให้เราเข้าทำงานด้านในที่อับอากาศ นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับลักษณะงานนั้น ๆ เพื่อให้เราเข้าทำงานด้านในได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญอุปกรณ์ทุกอย่างต้องมีมาตรฐานด้วย